- 1 รัฐบาลแจง 1 ต.ค.นี้ ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตามสิทธิ์อย่างไรบ้าง ด้าน UCEP Plus รับเฉพาะผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินวิกฤตสีแดง
- 2 สิทธิการรักษาหลังโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค. 65
- 3 ยกเลิกแอป #ไทยชนะ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
- 4 เริ่มแล้ว! เดินทางเข้าไทยไม่ต้องใช้เอกสารฉีดวัคซีนและตรวจเชื้อโควิด – Travelling to thailand
รัฐบาลแจง 1 ต.ค.นี้ ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตามสิทธิ์อย่างไรบ้าง ด้าน UCEP Plus รับเฉพาะผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินวิกฤตสีแดง
การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป ที่ได้ปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยันการรักษาพยาบาลได้ตามสิทธิฟรี ครอบคลุมทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม โดยเป็นการดูแลรักษาตามอาการและตามดุลยพินิจแพทย์ รายละเอียดมีดังนี้

1.การรักษาแบบเจอ แจก จบ กรณีไม่มีอาการ ยังคงรับการรักษาในรูปแบบของเทเลเฮลธ์ผ่าน 4 แอปพลิเคชันได้ตามปกติ โดยพบแพทย์ทางไกล วินิจฉัยอาการ และจัดส่งยาทางไปรษณีย์
2.สามารถรับยารักษาโควิดตามอาการที่1 ต.ค.นี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197
3.ยกเลิกการแจกชุดตรวจ ATK ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หากไปโรงพยาบาลแล้วแพทย์พิจารณาให้ตรวจคัดกรอง จะไม่มีค่าใช้จ่าย
4.ผู้ป่วยที่มีอาการหนักสามารถรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาลตามสิทธิ
5.การใช้สิทธิ UCEP Plus กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงหลักเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 โดยกำหนดให้เฉพาะผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเจ็บป่วยวิกฤต (สีแดง) สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกแห่งได้ และไม่มีเงื่อนไข 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งต้องมีอาการเจ็บป่วยวิกฤตตามเกณฑ์ UCEP Plus เช่น มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ทางเดินหายใจอุดกั้น หายใจหอบเหนื่อย มีภาวะที่ทำให้อาการระบบทางเดินหายใจรุนแรง ไม่สามารถหายใจได้ มีภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำ หรืออาการอื่นๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยโควิด19 อาการสีเหลือง เช่น กลุ่ม 608 ที่ไม่มีอาการ จะไม่ครอบคลุมสิทธิ UCEP Plus แต่สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิสุขภาพของตนได้
ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มีศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นหน่วยประสานระหว่างประชาชนและสถานพยาบาล ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ข้อมูล สอบถามโทร.0-2872-1669
สิทธิการรักษาหลังโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค. 65
สปสช. แจงหลักเกณฑ์การบริการโรคโควิด-19 ภายหลัง สธ. ประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำผู้ป่วยโควิด-19 คงรักษาฟรีเหมือนเดิม แต่เป็นการรับบริการตามสิทธิรักษาพยาบาลที่ตนเองมีอยู่
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับ “โรคโควิด 19 ” เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบในการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ให้เข้าถึงบริการ ได้มีการปรับแนวทางการสนับสนุนเพื่อรองรับ ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้เห็นชอบต่อข้อเสนอ การปรับหลักเกณฑ์ แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 กรณีปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย. 2565 มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการดำเนินการรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่นแล้ว
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่โรคโควิด-19 ได้ปรับเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง ประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอยู่ตามปกติ โดยให้เป็นการรับบริกาตามสิทธิสุขภาพที่ตนเองมีสิทธิอยู่ และที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการจัดทำและประกาศหลักเกณฑ์การเข้ารับบริการกรณีโควิด-19 ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาตามรายละเอียดดังนี้
1. การจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับคนไทยทุกสิทธิ ได้แก่ ค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ค่าบริหารจัดการศพ ค่าความเสียหายจากการฉีดวัคซีน จะถูกยกเลิก แล้วปรับใช้สิทธิจากกองทุนสุขภาพของแต่ละกองทุนตามระบบปกติ ซึ่งในส่วนของ สปสช. หากเกิดกรณีความเสียหายหลังฉีดวัคซีน จะใช้ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการจ่ายชดเชยเบื้องต้นแทน
2. ค่าบริการดูแลรักษาผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยนอก ค่าบริการแบบ OP Self Isolation หรือเจอ แจก จบ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ที่จ่ายให้หน่วยบริการจะถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นจ่ายชดเชยผู้ป่วยนอกตามระบบปกติ กรณีใช้บริการที่หน่วยบริการประจำ ค่าใช้จ่ายจะรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่หากรับบริการนอกหน่วยบริการประจำ ยังมีรายการให้เบิกจ่ายเป็น กรณี ATK professional จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาท และ RT-PCR จ่ายตามจริงไม่เกิน 900 บาท
กรณีผู้ป่วยใน จากเดิมที่จ่าย On Top จากระบบ DRG ได้แก่ ค่าห้องตามระดับความรุนแรงของโรค ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการ/อุปกรณ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และค่ายารักษาโควิด-19 เปลี่ยนเป็น จ่ายตามระบบ DRG จากกองทุนผู้ป่วยในระดับเขต ยกเลิกการจ่าย On Top ค่าห้องและค่าอุปกรณ์ป้องกัน ส่วนยารักษาโรคโควิด-19 ยังสามารถเบิกจากกระทรวงสาธารณสุขได้ต่อไป
3. ค่ายานพาหนะส่งต่อตามระยะทาง จากเดิมที่รวมค่าทำความสะอาดอุปกรณ์ PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท เปลี่ยนเป็น จ่ายเฉพาะค่าส่งต่อตามระยะทางกรมทางหลวงตามเดิม ยกเลิกการจ่ายค่า PPE และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ
4. ค่าบริการฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จากเดิม จ่ายค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อครั้ง และค่ายานพาหนะส่งต่อรวมค่าทำความสะอาดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท เปลี่ยนเป็นจ่ายเฉพาะค่าฟอกเลือดครั้งละ 1,500 บาท ยกเลิกการจ่ายค่า PPE และค่ารถส่งต่อกรณีผู้ป่วยนอก
5. ค่าบริการกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เปลี่ยนเป็นค่าบริการผู้ป่วยนอกและค่าบริการผู้ป่วยในตามระบบปกติ ยา IVIG จ่ายตามระบบ VMI
อย่างไรก็ตาม ยังคงให้มีการบริการแบบ OP Self Isolation หรือเจอ แจก จบ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้การดูแลทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ส่วนรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านยาจะให้เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. นี้
นอกจากนี้ยังคงการให้บริการรักษาโรคโควิด-19 ทางระบบออนไลน์ หรือ Telemedicine ผ่าน 4 แอปพลิเคชั่น ซึ่งจะมีบริการส่งยาฟรีถึงบ้าน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
ยกเลิกแอป #ไทยชนะ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
กระทรวงสาธารณสุข โดย #กรมควบคุมโรค ประกาศยกเลิกแอป #ไทยชนะ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ปรับโรค #โควิด19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดในระบบจะถูกทำลายทิ้ง ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางสารสนเทศ

เริ่มแล้ว! เดินทางเข้าไทยไม่ต้องใช้เอกสารฉีดวัคซีนและตรวจเชื้อโควิด – Travelling to thailand
#กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล แจ้งการเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป ยกเลิกการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 อาทิ เอกสารรับรองการได้รับวัคซีน และผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทย
